งานอาสาสมัคร มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก

ความเป็นมา

เมื่อเริ่มโครงการแด่น้องคนเล็ก ในปี 2523  (ต่อมาเปลี่ยนเป็นโครงการแด่น้องผู้หิวโหย) ได้เกิดอาสาสมัคร ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ประจำ แต่เป็นคนที่ทำงานประจำอยู่แล้ว อย่างเช่น กลุ่มคนทำงานด้านเด็ก  กลุ่มครูในชนบท ศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (พระไพศาล วิสาโล ) นิสิตนักศึกษาชมรมพุทธศาสนา  ทั้ง ร.พ.รามาธิบดี ร.พ. ศิริราช และอาสาสมัครท่านอื่นๆ ที่รวมตัวกันทุกเสาร์-อาทิตย์ เพื่อประชุมคิดค้นงาน วางแผน และไปลงพื้นที่ เพื่อเยี่ยมเด็ก ครอบครัว กลุ่มครู และร่วมกันทำความดีด้านพัฒนาเด็กหลายๆ ด้าน จนร่วมกันก่อตั้งเป็น มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ในปี 2525

ปี 2538 โครงการแด่น้องผู้หิวโหย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ได้ผลักดันให้เกิดกลไกชุมชนให้ความช่วยเหลือปกป้องเด็กด้อยโอกาส โดยร่วมมือกับองค์กรชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กลุ่มครูกัลยาณมิตร จังหวัดบุรีรัมย์ และ คณะทำงานเฝ้าระวังปัญหาเด็กขาดสารอาหาร จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีกิจกรรมช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในชุมชน จนเกิดโครงการเอื้ออาทรแบ่งปันจากพี่สู่น้อง เป็นกิจกรรมของเด็กนักเรียนรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือเพื่อน และครอบครัวเด็กด้อยโอกาสในชุมชน เช่น เด็กเจ็บป่วย เด็กขาดสารอาหาร เด็กพิการ เด็กที่พ่อแม่ติดเชื้อเอชไอวี เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมทางเพศ ในรูปแบบ “เด็กช่วยเด็ก”

ปี 2544  มูลนิธิฯ  ได้จัดทำโครงการ “อาสาสมัครคุ้มครองสิทธิเด็ก”  เพื่อส่งเสริมให้เกิดอาสาสมัครคุ้มครองสิทธิเด็กในชุมชน อันเป็นการยกระดับการทำงานชุมชนปกป้องเด็กให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และศรีสะเกษ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ มีการรับสมัครและจัดอบรมอาสาสมัครเพื่อทำหน้าที่ดูแลแก้ไขปัญหาเด็กในเบื้องต้น ซึ่งครอบคลุมปัญหาหลากหลาย ทั้งเรื่องสุขภาพอนามัย ถูกทอดทิ้ง ถูกละเมิดสิทธิต่างๆ มีการจัดอบรมเสริมความรู้เรื่องสิทธิเด็ก การเพิ่มทักษะโดยจัดอบรมเสริมศักยภาพ จัดประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นต้น การทำงานสร้างอาสาสมัครคุ้มครองสิทธิเด็ก เป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้องค์กรชุมชนดังกล่าวมีความเข้มแข็งในการพัฒนาคุ้มครองช่วยเหลือ และส่งเสริมสิทธิเด็กในชุมชนได้ดียิ่งขึ้น

                ในปัจจุบัน มูลนิธิฯ ยังคงดำเนินงานในรูปแบบการทำงานร่วมกับชุมชน เครือข่าย ในพื้นที่การทำงานในรูปแบบงานอาสาสมัครอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาส่งเสริมศักยภาพให้อาสาสมัคร จนเกิดเป็นแกนนำอาสาสมัครเด็กและเยาวชน แกนนำอาสาสมัครชุมชน เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาเด็ก เยาวชนในชุมชน และในโรงเรียน โดยสร้างการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ ความสามารถช่วยเหลือตนเองและสังคมได้ นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังทำงานร่วมกับจิตอาสา ที่เป็นบุคคลทั่วไปในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป บริษัท ห้างร้านและองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมอาสาสมัครเป็นครั้งคราว เพื่อช่วยเหลือเด็กเยาวชน และกิจกรรมในโครงการต่างๆ ของมูลนิธิฯ เช่น อาสาสมัครทาสีกำแพงรถไฟหัวลำโพง อาสาสมัครทำโรงเพาะเห็ดให้โรงเรียนบ้านห้วยกุ้ง จ.แม่ฮ่องสอน อาสาสมัครช่วยงานรองเมืองเรืองยิ้ม อาสาสมัครสอนหนังสือให้เด็กต่างชาติ เป็นต้น

“เนื้อแท้ของความเป็นอาสาสมัครนั้น อยู่ที่จิตใจ คือ มี “จิตอาสา” ที่ต้องการช่วยเหลือผู้อื่น หรือนึกถึงส่วนรวม จะเป็นครู พ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ ก็สามารถเป็นอาสาสมัครได้ตลอดเวลา หากมีจิตใจที่คำนึงถึงส่วนรวมอยู่เสมอ เราจำต้องตระหนักอยู่เสมอว่า “อาสาสมัคร” นั้นไม่ใช่เป็นอาชีพ หากคือสำนึกที่สมควรมีอยู่คู่กับความเป็นมนุษย์ของเราจนกว่าชีวิตจะหาไม่”  พระไพศาล วิสาโล (หนังสือ “อาสาสมัคร เพราะให้…จึงได้รับ”