หนังสือปี63

ดาวโหลดหนังสือปี 2563ที่นี่

ในช่วงปี ๒๕๖๓ เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ๑๙ ซึ่งเป็นภาวะคุกคามที่ทั่วโลกต้องเผชิญร่วมกัน สำหรับประเทศไทยภาวะการแพร่ระบาดลุกลามไปทั่วประเทศจนเกิดมาตรการป้องกันและการเฝ้าระวัง เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เช่น มาตรการห้ามสถานประกอบการประกอบธุรกิจในเวลาที่กำหนด มาตรการห้ามประชาชนเดินทางไปมาระหว่างเมือง มาตรการปิดพรมแดนระหว่างประเทศ และขอความร่วมมือให้ทำงานที่พักอาศัยของตนเอง สิ่งเหล่านี้ ได้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก ในช่วงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความสับสน และชุมชนยังไม่รู้ว่าจะปรับทิศทางในการในการรับรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดได้อย่างไร บทบาทของแกนนำนักสื่อสาร ภายใต้โครงการนักสื่อสารสุขภาวะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ดำเนินการร่วมกับเครือข่าย กลับโดดเด่นและกลายเป็นกลไกสำคัญที่ออกมาเคลื่อนงานในสถานการณ์วิกฤติได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที เพื่อทำให้ชุมชนคลี่คลายความวิตกกังวลและสามารถรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ด้วยความร่วมใจของชาวชุมชนเอง คือ

๑) ลดความเหลื่อมล้ำความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการของรัฐ  เช่น บริการสาธารณสุข ฯลฯ :  ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรควิด ๑๙ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทำให้ภาครัฐมีความพยายามที่จะออกมาตรการเพื่อจะช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงสิทธิดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีสถานะทางรัฐ ดังนั้น การหันกลับมาช่วยเหลือดูแลกันและกันของคนในชุมชน จึงเป็นระบบที่เข้าถึงได้ง่าย รวดเร็วทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้มากกว่า ดังนั้นในการทำงานของนักสื่อสารฯ จึงมีการออกแบบระบบการช่วยเหลือ โดยการกระจายสิ่งของที่ได้รับจากบริจาคและจากการระดมทุนให้เข้าถึงทุกครัวเรือน เป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างทันท่วงที

๒) ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการเรียนรู้เพราะขาดทรัพยากรเทคโนโลยี :  ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคทำให้ทำให้รัฐต้องออกมาตราการให้โรงเรียนปิดการเรียนการสอน โดยครูต้องจัดการศึกษาแบบออนไลน์ ส่งผลให้เด็กในหลายพื้นที่เข้าไม่ถึงการเรียนรู้ เพราะขาดทรัพยากรในการเข้าถึง ด้วยเพราะฐานะยากจน สภาพพื้นที่อยู่ห่างไกลจึงไม่มีสัญญาอินเตอร์เน็ต ฯลฯ ดังนั้นการทำงานของโครงการนักสื่อสารฯจึงปรับกิจกรรมให้เด็กได้เข้าถึงการเรียนรู้การสอนให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น โรงเรียนบ้านแม่แพน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ปรับการเรียนรู้โดยจัดทำห้องเรียนชุมชน ๒ ห้องเรียน ในหมู่บ้าน มีครู พ่อแม่ ครูชุมชน เกิดขึ้นโดยโรงเรียนเป็นผู้ให้การสนับสนุน ส่งเสริม ติดตาม ให้เกิดการเรียนรู้ ไปพร้อมกัน

 

 

โครงการนักสื่อสารสุขภาวะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาเด็ก เยาวชน ที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก เกิดการพัฒนาศักยภาพตัวเองเพื่อเป็นพลังในการสร้างสรรค์ชุมชน สังคม สามารถเป็นนักสื่อสารที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาสุขภาวะของเด็ก เยาวชน และชุมชนให้ดีขึ้น เป็นการช่วยลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ให้คนทุกคนที่ขาดโอกาสได้มองเห็นคุณค่าในตนเอง รักในถิ่นฐานของตน ผ่านกระบวนการสื่อสารสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย มุ่งหวังให้เด็ก เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้รู้เท่าทันตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง เกิดทักษะความเป็นผู้นำ  ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล  ตระหนักรู้เท่าทันสะท้อนความคิด   ทักษะการสื่อสารและสร้างความร่วมมือ ที่จะดำเนินชีวิตในสังคมดิจิทัลได้อย่างเท่าทัน  กลายเป็นนักสื่อสารสุขภาวะ ที่ใช้สื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงวิถีสุขภาวะให้ชุมชน  นำไปสู่ความเป็นพลเมืองที่มีสุขภาวะทางปัญญา สร้างให้เกิดระบบสื่อสุขภาวะที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่เกิดกับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก โดยการขับเคลื่อนงานนักสื่อสารสุขภาวะ:เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นี้  มุ่งเน้นยกระดับการทำงานที่มีต้นทุนอยู่เดิมให้มีความเข้มแข็งขึ้น และการจัดการตนเอง โครงการได้ออกแบบโมเดลการดำเนินงาน  ๒ แบบ คือ ๑) นักสื่อสารเปลี่ยนเมือง :นักสื่อสารเปลี่ยนเมืองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผ่านนักสื่อสารสุขภาวะเด็กข้ามชาติ ผ่านนักสื่อสารสุขภาวะชุมชนแออัดเมือง “รองเมืองเรืองยิ้ม”   และผ่านนักสื่อสารสุขภาวะ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ๒) นักสื่อสารเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาและMIDLสร้างการเปลี่ยนแปลง ผ่านการนักสื่อสารลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และ MIDL สร้างการเปลี่ยนแปลงอีสานตุ้มโฮม

แนวทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในระยะต่อไป มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) ยังคงเป็นพื้นที่กลางในการเชื่อมประสานชุมชน โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ในการสร้างพื้นที่การสื่อสารเพื่อสร้างความหมายใหม่ของการศึกษาเพื่อชุมชน และเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตที่มีคุณค่าจากสถานการความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ส่งผลกระทบ กลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนทั้งในเมืองและชนบท  เพื่อลดความเลื่อมล้ำด้านสิทธิและโอกาสการศึกษา ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับเด็กและเยาวชน   เกิดช่องว่างระหว่างวัย ผู้สูงอายุไม่เท่าทันเด็กและสื่อ ไม่มีวิธีการดูแลเด็กอย่างเหมาะสม  มูลนิธิฯยังคงขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายครูโรงเรียน  เพื่อคิดค้นต้นแบบนวัตกรรมการศึกษา และสร้างคุณค่า ร่วมกันพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบ ทั้งในโรงเรียนและชุมชน   รวมทั้งขยายผลในระดับนโยบายท้องถิ่น  ระดับจังหวัดและระดับชาติ  ในส่วนเครือข่ายมหาวิทยาลัยร่วมกันขับเคลื่อน หลักสูตรเท่าทันสื่อ และติจิทัลสร้างการเปลี่ยนแปลงเด็กรุ่นใหม่ให้มีทักษะชีวิตในศตวรรษที่21  สร้างสรรค์สื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับตนเอง  ชุมชน  และสังคมต่อไป