เชิญร่วงานแถลงข่าวภาคประชาสังคมกว่า 300 องค์กรเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีให้มอบของขวัญวันเด็กปี 2564 ด้วยสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า
วันที่ 9 มกราคม 64 เวลา 09.30 – 12.00 น.
ณ.สนามเด็กเล็ก สำนักงานมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ซอยเสือใหญ่อุทิศ กรุงเทพฯ
สังคมไทยถือว่ามีความก้าวหน้าด้านการจัดสวัสดิการสำหรับคุ้มครองเด็กเล็กมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ ที่ได้ริเริ่มดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในขวบปีแรกโดยให้เงิน ๔๐๐ บาท/คน/เดือน ต่อมาในปี ๒๕๕๙ ขยายจากเด็กอายุ ๑ ปีมาเป็นแรกเกิดถึง ๓ ปีและเพิ่มวงเงินอุดหนุนจาก ๔๐๐ บาท เป็น ๖๐๐ บาท/คน/เดือน…. ปี ๒๕๖๐ ขยายสิทธิ์ให้กับผู้อยู่ในระบบประกันสังคม และขยายฐานรายได้จากเดิมกำหนดเกณฑ์รายได้ไว้ที่ ๓๖,๐๐๐บาท/ปี/ครัวเรือน มาใช้ฐานรายได้ที่ ๑๐๐,๐๐๐บาท/ปี/ครัวเรือนตามฐานรายได้ของโครงการจัดสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งแม้จะมีความก้าวหน้าในการให้สวัสดิการแต่ยังคงเป็นการให้แบบจำเพาะเจาะจง มีผลการศึกษาออกมาชัดเจนแล้วว่า โครงการดังกล่าวเกิดปัญหาเด็กเล็กที่อยู่ในเกณฑ์ที่รัฐกำหนดให้ได้รับสวัสดิการตกหล่นเถึง ๓๐% และจากการศึกษาทั่วโลกพบว่า การแก้ไขลดอัตราการตกหล่นทำได้ หากรัฐบาลจัดให้เป็นนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า
คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า มีส่วนผลักดันนโยบายเรื่องนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ต้น โดยเห็นว่าสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กที่เป็นแบบถ้วนหน้าเป็นการลงทุนทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่าที่สุดด้านพัฒนาการเด็ก สอดคล้องกับแนวคิดหลักการด้านสิทธิความเท่าเทียมกัน ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก การให้เงินอุดหนุนกับเด็กเล็กทุกคนทำให้รัฐไม่ต้องใช้กระบวนการคัดกรองคนจน สามารถแก้ไขปัญหาการตกหล่นและลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการเสริมสร้างระบบสวัสดิการตลอดช่วงอายุเด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ
หากรัฐยังให้เงินอุดหนุนเด็กเดือนละ ๖๐๐ บาทกับเด็กอายุ ๐ – ๖ ปีในครอบครัวรายได้ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท/คน/ปี ในปี ๒๕๖๔ จะมีเด็กได้รับเงินดังกล่าวอยู่จำนวน ๒,๐๙๑,๖๙๓ คน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๑๕,๐๖๐.๑๙ ล้านบาท แต่หากขยายความคุ้มครองให้เป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้ากับเด็กอายุ ๐ – ๖ ปีทุกคน เดือนละ ๖๐๐ บาท จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๓๐,๕๓๓.๙๘ ล้านบาทและสามารถครอบคลุมเด็กเล็กที่เป็นเด็กไทยทั้งหมดในประเทศ จำนวน ๔,๒๔๐,๘๓๑ คน
สถานการณ์โควิด- ๑๙ รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งให้มีนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า
สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่กลับมาในละลอกที่สองและมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่ารอบที่ผ่านมา และย่อมส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพ ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อทุกกลุ่มคนหลากหลายอาชีพ ทั้งในเมืองและชนบทอย่างกว้างขวาง. ที่สำคัญที่สุดคือผลกระทบที่รุนแรงต่อครอบครัวที่มีเด็กเล็กและเด็กเกิดใหม่ การเผชิญภาวะเศรษฐกิจจากรายได้ที่ลดลงอย่างมาก ทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถทำงานตามปกติได้ การถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะแรงงานหญิงที่กำลังท้องหรือมีลูกอ่อนที่ถูกเลิกจ้าง สถานการณ์เด็กเล็กที่โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีคำสั่งให้ปิดอีกครั้ง ทำให้ค่าใช้จ่ายเด็กเล็กในบ้านเพิ่มขึ้นขณะที่ยังสถานการณ์ยังไม่สามารถฟื้นตัว ปัญหาเด็กที่ไม่มีผู้ดูแลทำให้ผู้ปกครองไปทำงานไม่ได้หรือต้องหาคนมาช่วยเลี้ยง