แถลงการณ์ ๓๐ องค์กรด้านเด็กและเยาวชนต่อนโยบายพรรคการเมือง
การเลือกตั้งขึ้นในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ช่วงเวลานี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งของทุกพรรคการเมือง แต่ละพรรคมีนโยบายหลักที่ใช้รณรงค์การหาเสียง ทั้งนโยบายเกี่ยวกับ เศรษฐกิจ การศึกษา สวัสดิการ การเมือง ความมั่นคง ที่แตกต่างกันไปตามจุดยืนของแต่ละพรรคการเมือง แต่จากการเฝ้าติดตามของเครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชน พบว่านโยบายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนของแต่ละพรรคมีปรากฏอยู่น้อยมาก ยังคงมุ่งเน้นสวัสดิการ ชุมชน ชูการศึกษาที่เน้นแข่งขันสู่ความเป็นเลิศ สร้างความไม่เท่าเทียมในเด็กและเยาวชน เราแทบไม่เห็นพรรคการเมืองใดมีนโยบายที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน อันเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น แทบไม่เห็นการสนับสนุนการรวมกลุ่ม สนับสนุนกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้เด็กและเยาวชนได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
และปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนเหล่านี้เรายังไม่เห็นคำตอบใดๆในนโยบายพรรคการเมือง
๑) เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีก่อคดีเข้าสู่สถานพินิจฯ มากกว่า ๓๐,๐๐๐ คนต่อปีพบว่าเกือบครึ่งเป็นคดียาเสพติด
๒) เด็กและเยาวชนติดยาเสพติด มากกว่า ๓๐๐,๐๐๐ คนต่อปี มีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่ม ๒๕๐,๐๐๐ คนต่อปี
๓) เด็กและเยาวชนเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละ ๒,๕๑๐ ราย โดยจากสถิติคือช่วงอายุ ๑๕-๑๙ ปี ที่เสียชีวิตสูงสุด บาดเจ็บและพิการอีกนับไม่ถ้วน
๔) เด็กและเยาวชนเล่นพนัน ๓.๖ ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ยอมรับว่าติดพนัน ๔๐๐,๐๐๐ คน
๕) ความรุนแรงทางเพศในเด็กและเยาวชน อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง จากการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศ ปี๒๕๖๐ในหนังสือพิมพ์ ๑๓ ฉบับ โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าเกิดเหตุทั้งหมด ๓๑๗ ข่าว ซึ่งช่วงอายุของผู้ถูกกระทำ ๖๐.๖% เป็นกลุ่มอายุ ๕-๒๐ ปีถึง 60.6% ผู้ถูกกระทำอายุน้อยที่สุดเป็นเด็กหญิง ๕ ขวบถูกข่มขืน ผู้ก่อเหตุกว่าครึ่งเป็นคนรู้จักคุ้นเคยหรือบุคคลในครอบครัวกว่า ๕๓% รองลงมาเป็นคนแปลกหน้า ไม่รู้จักกัน ๓๘.๒% และคนที่รู้จักกันผ่านโซเชียล ๘.๘%
๖) เด็กและเยาวชนต้องเติบโต ในพื้นที่เสี่ยง ไม่ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม ลักขโมย วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ขาดพื้นที่ในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ขาดโอกาสขาดการสนับสนุนการรวมกลุ่มกันพัฒนาศักยภาพ ค้นหาตัวเอง
๗)เด็กไทย อายุ ๘-๑๒ ปี ใช้เวลากับหน้าจอ ๓๕ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ๗๓% คือสมาร์ทโฟน ต้องเผชิญกับปัญหา Cyber Bulling ๔๙% (การถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ การด่าทอด้วยข้อความหยาบคาย การตัดต่อภาพสร้างข้อมูลเท็จ) การเข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้า ๑๙% ติดเกม ๑๒% และถูกล่อลวงจากคนแปลกหน้า ๗%และยังมีอีกหลายปรากฏการณ์ที่เด็กและเยาวชนไทยต้องเผชิญ และแทบไม่มีการพูดถึงเลยในนโยบายพรรคการเมือง
หรือท่ามกลางการเลือกตั้งครั้งนี้ เด็กและเยาวชนไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นี่คือคำถาม????
เครือข่ายคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน ๓๐ องค์กร ดังรายนามแนบท้ายนี้ จึงของแสดงจุดยืนต่อพรรคการเมืองทุกพรรค ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ดังนี้
๑) ขอแสดงความเสียใจต่อนโยบายของพรรคการเมือง ณ ปัจจุบัน ที่ยังไม่สะท้อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง จนทำให้เราเป็นห่วงว่า “เด็กและเยาวชนไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ในการเลือกตั้งครั้งนี้
๒) ขอเรียกร้องให้พรรคการเมือง มีนโยบายในการปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ทั้งประเด็น ยาเสพติด การพนัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นต้นทางสำคัญนำสู่ปัญหาสังคม ตลอดจนนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ท้องก่อนวัยอันควร การถูกออกจากโรงเรียนกลางคัน และอุบัติเหตุจราจรในกลุ่มเด็กและเยาวชน
๓) ขอเรียกร้องให้พรรคการเมือง มีนโยบายการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ ลดพื้นที่เสี่ยงในชุมชน มีความปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตของเด็กและเยาวชน เอื้อต่อการเติบโตที่มีคุณภาพ
๔) ขอให้พรรคการเมืองมีนโยบาย จัดตั้ง “กองทุนเพื่อเด็กและเยาวชน” เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มในทางสร้างสรรค์ พัฒนาเด็กและเยาวชนให้เห็นศักยภาพในตัวเอง สร้างความเข้มแข็ง ทักษะชีวิต และส่งเสริมพลังเยาวชนเพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมที่มีคุณภาพด้วยตัวเด็กและเยาวชนเอง เป็นกองทุนที่เป็นอิสระเข้าถึงง่าย ไม่อยู่ภายใต้ระบบราชการที่จะกลายมาเป็นข้อจำกัดในการทำงาน เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ได้อย่างแท้จริงการ
ด้วยจิตคารวะ เครือข่ายคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน ๓๐ องค์กร
#เครือข่ายคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน #มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก