จุดเริ่มต้นการทำงานเพื่อเด็ก
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ก่อตั้งเมื่อ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๕ จากการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิชาการ คนทำงานด้านเด็ก ที่มุ่งเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาส คือ ๑)โครงการแด่น้องผู้หิวโหย ๒) กลุ่มส่งเสริมสื่อมวลชนเพื่อเด็กหรือโครงการส่งเสริมสื่อมวลชนเพื่อเด็ก ปัจจุบันขยายเป็นแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) และ๓) ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานเด็กหรือโครงการแรงงานเด็ก เพื่อร่วมกันทำงานพัฒนาเด็กตามเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสในสังคมและเด็กที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตในสถานการณ์ต่างๆ ในช่วง ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นการช่วยเหลือเด็ก ๔ กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มเด็กในชนบท (ผ่านโครงการแด่น้องผู้หิวโหย) เด็กที่ได้รับผลกระทบจากสื่อ (ผ่านงานโครงการส่งเสริมสื่อมวลชนเพื่อเด็ก) กลุ่มเด็กที่ต้องมาขายแรงงานหรือแรงงานเด็ก (ผ่านโครงการแรงงานเด็ก) และกลุ่มเด็กในชุมชนเมือง (ผ่านโครงการครอบครัวชุมชนพัฒนา)
บนเส้นทางการทำงานที่ผ่านมา
จากประสบการณ์การทำงานด้านพัฒนาเด็กตลอด ๒๙ ปีที่ผ่านมา มพด. ได้เรียนรู้ ริเริ่มและพัฒนาการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการช่วยเหลือ ปกป้องและคุ้มครองกลุ่มเด็กด้อยโอกาสเน้นการทำงานเชิงลึก ใช้กระบวนการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมาย เด็ก เยาวชน ครอบครัวและชุมชน ประสานงานกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก การผลักดันด้านกฎหมายและนโยบาย เป็นตัวแทนในคณะกรรมการและอนุกรรมการการพัฒนาเด็ก ในคณะต่าง ๆ มีการศึกษาวิจัยสภาพปัญหา เชื่อมโยงองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษามาใช้ในการทำงาน อันก่อให้เกิดบทเรียนจากการทำงานที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น
สถานการณ์ปัญหาของเด็กในชนบท
มองย้อนหลังไปยังปัญหาของเด็กในชนบทเมื่อกว่า ๓๐ กว่า ปีที่ผ่านมา จวบจนปัจจุบัน ยังคงเป็นปัญหาของความขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอาหาร สุขภาพอนามัย การศึกษา ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจและความพร้อมในการประกอบอาชีพเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยสี่ ประกอบกับความเจริญทางวัตถุที่นำมาซึ่งการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองและไม่เป็นธรรม รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองและความรุนแรงที่เป็นสถานการณ์ใหม่ในสังคมไทย ทำให้มีเด็กถูกทอดทิ้งมากขึ้น ทั้งจากกรณีพ่อแม่อพยพแรงงาน ครอบครัวแตกแยกหย่าร้าง เด็กกำพร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ จากเหตุการณ์ภัยพิบัติ และความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาตามมา คือ สุขภาพร่างกายและจิตใจ ยาเสพติด พฤติกรรมเบี่ยงเบนก้าวร้าวรุนแรง การเลียนแบบสื่อ และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปัญหาของเด็กมีความหนักหน่วงรุนแรงและซับซ้อนขึ้น
โครงการแด่น้องผู้หิวโหย ได้ให้ความช่วยเหลือดูแลเด็กชนบทที่ป่วยเป็นโรคขาดสารอาหาร โดยสนับสนุนให้บุคคลในพื้นที่จัดทำโครงการอาหารกลางวัน/อาหารเสริม และโครงการเกษตรเพื่อนำผลผลิตมาทำอาหารกลางวัน โครงการแด่น้องผู้หิวโหยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงกว้างจากภาพยนตร์โฆษณา “แด่น้องผู้หิวโหย” (เด็กกินดิน) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ และได้ขยายงานโครงการเกษตรในโรงเรียนไปสู่ชุมชนในลักษณะแหล่งฝึกอบรมทักษะการเกษตรให้แก่เด็กและชาวบ้าน เพื่อสร้างแหล่งอาหารในชุมชน ควบคู่ไปกับการจัดอบรมส่งเสริมทักษะและขยายรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนและแนวทางการพึ่งตนเองส่งเสริมกระบวนการสร้างกลไกชุมชนปกป้องเด็กเพื่อเป็นการดูแลส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กโดยคนในชุมชน
งานความมั่นคงทางอาหาร
ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ มีเด็กขาดสารอาหารจำนวนมากถึงปีละ ๕๕๐,๐๐๐ คน โครงการแด่น้องผู้หิวโหยถึงถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่อยากช่วยเหลือเด็ก โดยรับบริจาคเงินส่งให้โรงเรียนเพื่อทำอาหารกลางวันเลี้ยงนักเรียน ต่อมาโครงการฯ จึงสนับสนุนให้คนในชุมชนเป็นผู้ดำเนินโครงการเอง โดยแก้ไขปัญหาเด็กขาดอาหารเฉพาะหน้าเร่งด่วนด้วยโครงการอาหารกลางวัน/อาหารเสริม โครงการเกษตรในโรงเรียน ในชุมชนมีการสงเคราะห์เฉพาะราย เด็กขาดสารอาหารและการเกษตรส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ในโรงเรียนและในหมู่บ้าน มีการจัดกลุ่มหมุนเวียนกันดูแลจัดทำ จัดอบรมเทคนิคการเกษตรที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ โดยเน้นเพื่อนำผลผลิตมาทำอาหารกลางวันและขายผลผลิตส่วนเกินเพื่อสะสมในกองทุนอาหารกลางวัน
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ โครงการฯ ได้ขยายการบริการอาหารกลางวัน/อาหารเสริมและการเกษตรในโรงเรียนในภาคอีสาน ภาคเหนือและภาคกลาง มีการประสานความร่วมมือกับ “ข่ายงานในชุมชน” คือ สำนักงานประถมศึกษาอำเภอและองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ในพื้นที่ ช่วยติดตามดูแลการดำเนินโครงการของโรงเรียนและหมู่บ้านอีกแรงหนึ่ง จากการเข้าไปติดตามเองของเจ้าหน้าที่โครงการแด่น้องฯ พร้อมกับดำเนินการจัดอบรมเสริมทักษะความรู้และดูงานด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่องและการสนับสนุนกองทุนการเกษตรแก่โรงเรียนที่มีแนวโน้มว่าสามารถนำไปใช้หมุนเวียนได้ต่อเนื่องจริง โดยยังคงเน้นให้เด็ก ชาวบ้าน และครูมีส่วนร่วมในโครงการทุกขั้นตอน
ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๖-๒๕๔๐ มีการทำงานเชิงลึกที่เป็นงานศึกษารูปแบบการเสริมพลังครอบครัวและชุมชนเพื่อให้มีบทบาทป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็ก ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องโภชนาการและพัฒนาการของเด็ก กลุ่มเป้าหมายคือ เด็ก ครอบครัว กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน และผู้นำหมู่บ้าน กิจกรรม ได้แก่ โครงการอาหารเสริมในศูนย์เด็กเล็ก โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน อาชีพเสริมสำหรับกลุ่มพ่อบ้าน กลุ่มแม่บ้านและกลุ่มเยาวชน (ตัดเย็บ ทำขนม ทำน้ำปลา ตีเหล็ก ช่างยนต์ พิมพ์ดีด เลี้ยงไก่) อบรมเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก การดูงานด้านเกษตรกรรม กลุ่มออมทรัพย์และร้านค้า )
ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ส่งผลกระทบรุนแรงจนเห็นได้ชัดในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เมื่อโครงการแด่น้องฯ ได้พบว่าในพื้นที่โครงการเกษตร มีเด็กวัย ๑-๓ ปี เป็นโรคขาดสารอาหารระดับรุนแรงในเกณฑ์อันตรายและปัญหาทุพโภชนาการของเด็กที่น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ในอัตราสูง ทำให้โรคขาดสารอาหารกลับมาเป็นปัญหาสำคัญของเด็กวัยก่อนเรียนและวัยเรียนอีกวาระหนึ่ง รวมถึงปัญหาของ เด็กที่ถูกทอดทิ้งเพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาซับซ้อนเหล่านี้ โครงการแด่น้องฯ จึงเน้นการทำงานส่งเสริมให้การรวมตัวกันของคนในชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก โครงการแด่น้องฯ จัดให้มีโครงการส่งเสริมทางเลือกครอบครัวแรงงานคืนถิ่น ตั้งแต่กลางปี พ.ศ.๒๕๔๐ – กลางปี พ.ศ.๒๕๔๒ โดยสนับสนุนกลุ่มเยาวชน ทั้งทางด้านงานเกษตรและงานช่าง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีเยาวชนเข้ามาทำกิจกรรมต่อเนื่องน้อย ส่วนใหญ่พากันอพยพแรงงานไปหมดในช่วงต้นปี พ.ศ.๒๕๔๒ แต่งานรวมกลุ่มชาวบ้านกลับประสบผล เกิดกลุ่มสตรี กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มทอผ้า กลุ่มทำขนม และกลุ่มเลี้ยงปลา
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๕ โครงการแด่น้องฯ ยังคงให้การสนับสนุนโครงการเกษตรในโรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดารภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ เนื่องจากสำรวจพบข้อมูลปัญหาทุพโภชนาการเด็กจำนวนมากและเป็นพื้นที่ทุรกันดารที่บริการจากภาครัฐเข้าไปไม่ทั่วถึง นอกจากโครงการเกษตรแล้ว ยังสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันสมทบกับงบประมาณที่โรงเรียนได้รับจากภาครัฐ เพื่อให้เด็กได้รับอาหารกลางวันอย่างพอเพียงครบทุกคน และคณะครูได้เข้ารับการอบรมดูงานเทคนิคการเกษตรพื้นที่สูง เพื่อนำไปปรับปรุงงานเกษตรให้มีความหลากหลาย เช่น การปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลา ไก่ เป็ดเทศ และหมู ปลูกพืชเมืองหนาว และสวนผลไม้
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖-๒๕๔๘ โครงการแด่น้องฯ ให้การสนับสนุนโครงการเกษตรและโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนในภาคเหนือและตะวันออก และใช้โครงการเป็นสื่อกลางในการทำงานร่วมกันของหลาย ๆ ฝ่าย โรงเรียน ผู้นำชุมชน พ่อแม่และผู้ปกครองเด็ก มีการประชุมร่วมกับผู้นำชุมชนและครูเพื่อสะท้อนปัญหาเด็กในชุมชน โครงการฯ ได้พัฒนาโครงการเกษตรให้เป็นโครงการพื้นที่ต้นแบบชุมชนสร้างอาหารแก่เด็กในโรงเรียนและชุมชน ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ สถานการณ์ปัญหาของเด็กกลับรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องด้วยเหตุการณ์ภัยทางธรรมชาติสึนามิและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้โครงการฯ ต้องติดตามสถานการณ์เด็กในภาวะวิกฤติอย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนเฉพาะหน้าแก่เด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากทั้ง ๒ เหตุการณ์ เช่น นมผง อาหารเสริม ค่ารักษาพยาบาล ทุนการศึกษา อุปกรณ์การศึกษา เครื่องมือและอุปกรณ์ประกอบอาชีพ ก่อนพัฒนาโครงการเพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ต่อไป
งานอนามัยแม่และเด็ก
เพื่อสนับสนุนให้โครงการเกษตร/โครงการอาหารกลางวัน ประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเด็กขาดสารอาหาร โครงการแด่น้องผู้หิวโหยได้เสริมสร้างความรู้ด้านโภชนาการ อนามัยและการเลี้ยงดูเด็กให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยให้แก่กลุ่มพ่อบ้านแม่บ้านในชุมชน ด้วยการจัดหน่วยเคลื่อนที่ให้ความรู้โภชนศึกษาและสาธิตการทำอาหารเสริมจากวัตถุดิบในชุมชน โดยร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขของท้องถิ่น และเสริมทักษะการติดตามภาวะโภชนาการของเด็กด้วยการชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ โครงการแด่น้องฯ ได้ปรับกระบวนการทำงาน ทั้งด้านลึกเชิงคุณภาพในเรื่องอนามัยแม่และเด็กในหมู่บ้านเป้าหมาย ด้วยการศึกษาเชิงปฏิบัติการเพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาเด็กขาดสารอาหารตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาและส่งเสริมพัฒนาการเด็กหลังคลอด ระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๒ ในหมู่บ้านพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ด้วยวิธีการเยี่ยมบ้านเด็ก ครอบครัวละ ๒-๔ ครั้ง/เดือน พูดคุยให้ความรู้แก่กลุ่มแม่ในเรื่องการปฏิบัติตนระหว่างตั้งครรภ์ การรับวัคซีน อาหาร ๕ หมู่ และอาหารเสริมสำหรับเด็กที่หาได้จากแหล่งอาหารในชุมชน พัฒนาการตามวัยของเด็ก โรคที่เกิดกับเด็ก ฯลฯ ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือเฉพาะหน้ากรณีเด็กขาดสารอาหารระดับรุนแรงหรือเจ็บป่วย และสนับสนุนให้กลุ่มแม่บ้านและเยาวชนมาช่วยกันทำนมถั่วเหลืองให้เด็กได้บริโภคทุกวัน เมื่อเสร็จสิ้นการศึกษา ๓ ปี พบว่าพฤติกรรมของแม่ในการเลี้ยงดูเด็กดีสม่ำเสมอ ช่วยให้เด็กขาดสารอาหารระดับรุนแรงหมดไป เด็กแรกคลอดทุกรายมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
โครงการแด่น้องฯ ยังคงให้ความรู้อนามัยแม่และเด็ก และออกตรวจสุขภาพเด็กในพื้นที่ทำงาน เช่น ในจังหวัดศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สระแก้ว และปัตตานี
งานทุนการศึกษา
ปี พ.ศ.๒๕๓๕ โครงการแด่น้องฯ เริ่มโครงการทุนการศึกษาแก่เด็กที่มีความประพฤติดี ฐานะยากจนช่วยเหลืองานของครอบครัวและโรงเรียน และมีผลการเรียนระดับพอใช้ โดยโครงการแด่น้องฯ ร่วมมือกับครูคัดเลือกเด็กจากโรงเรียนในโครงการอาหารกลางวันและการเกษตร ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ นักเรียนทุนเหล่านี้อยู่ใน จ.ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ สุรินทร์ ชัยภูมิ มุกดาหาร สกลนคร และแม่ฮ่องสอน งานทุนการศึกษานี้เองทำให้โครงการแด่น้องฯ มีโอกาสทำงานร่วมกับเครือข่ายครู ๒ จังหวัดในปี พ.ศ.๒๕๓๙ คือ กลุ่มครูกัลยาณมิตร จ.บุรีรัมย์ และกลุ่มครูพัฒนาบ้านเฮา จ.อำนาจเจริญ รวม ๕๔ คน โดยโครงการแด่น้องฯ สนับสนุนการจัดอบรมเสริมทักษะความรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาเด็กในความดูแลของครู โดยกลุ่มครูเป็นผู้ทำงานช่วยเหลือดูแลเด็กและครอบครัวที่ประสบปัญหา ด้วยการเยี่ยมบ้านแลกเปลี่ยนให้กำลังใจ หาทางช่วยเหลือทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว มีการจัดเก็บข้อมูลเด็กและประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือด้วย ทำให้กลุ่มครูมีประสบการณ์และสามารถขอการสนับสนุนจากแหล่งทุนต่าง ๆ
ในปี พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๕๔ เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่จบการศึกษา และบางส่วนสามารถขอรับทุนการศึกษาในพื้นที่ โครงการแด่น้องฯ มีแนวทางการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มเด็กใน จ.บุรีรัมย์ สระแก้วและศรีสะเกษ ในเชิงคุณภาพมากขึ้น จึงได้จัดกลุ่มพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับการวางแผนชีวิต การช่วยเหลืองานส่วนรวมและครอบครัว และทำงานหารายได้ในช่วงวันหยุดและปิดเทอม พร้อมกับให้เด็กเข้าร่วมงานค่ายและการอบรมเสริมทักษะความรู้ต่าง ๆ ทำให้เด็กรวมกลุ่มกันเพาะเห็ดขายในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากคนในครอบครัวและผู้นำชุมชน และต่อมาได้พัฒนาเป็นโครงการพัฒนาทักษะด้านอาชีพเพื่อการพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมให้เด็กมีความรู้และทางเลือกด้านอาชีพในท้องถิ่น ทำกิจกรรมที่เหมาะสม มีรายได้เสริมในระหว่างเรียน
งานพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๓๙ โครงการแด่น้องฯ ได้จัดทำโครงการอบรมศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์ภายในวัด จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้แก่ครูพี่เลี้ยง จำนวน ๑๐ ศูนย์ ซึ่งมีเด็กในความดูแล จำนวน ๓๗๒ คน ช่วงอายุ ๓-๔ ปีในอำเภอขุนหาญ ไพรบึง และขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ สืบเนื่องมาจากพบว่าเด็กภายในศูนย์มีพัฒนาการที่ต่ำกว่าเกณฑ์โดยเฉพาะสติปัญญา กล้ามเนื้อเล็ก อารมณ์ และสังคม การทำงานของแด่น้องฯ เพื่อแก้ไขปัญหาของเด็กภายในศูนย์ โดยประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการศาสนา และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด รวมทั้งกำหนดการพัฒนาและส่งเสริมความรู้แก่บุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก คือ เจ้าอาวาสในฐานะผู้บริหารศูนย์ พี่เลี้ยงเด็กภายในศูนย์ ผู้ปกครองและผู้นำชุมชน โดยมีการให้ความรู้แก่เจ้าอาวาสและพระสงฆ์ การอบรมครูพี่เลี้ยง กิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้เจ้าอาวาสมีความสนใจพัฒนาศูนย์ มีการพัฒนาการบริหารศูนย์และสามารถให้คำแนะนำแก่ครูพี่เลี้ยงเด็กในการจัดการบริหารศูนย์ได้ดีขึ้น ครูพี่เลี้ยงมีการพัฒนาในการจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก จัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการพัฒนาเด็ก ดัดแปลงอุปกรณ์วัสดุเพื่อทำสื่อการเรียนการสอน และสามารถดึงชุมชนและผู้ปกครองของเด็กให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาศูนย์
งานพลังเด็ก เยาวชนและครอบครัว
กลุ่มพลังเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่เป็นอาสาสมัคร ถือเป็นกลไกหนึ่งในชุมชนที่ทำงานช่วยเหลือเด็กระดับโรงเรียนและชุมชน ให้มีกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของกลุ่มพลังเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้เกิดการช่วยเหลือสังคม ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุกับการพัฒนาเด็ก นำไปสู่การแสวงหาเครือข่ายในการให้ความช่วยเหลือกัน โดยทำงานกับกลุ่มเด็กในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน กลุ่มผู้ปกครองและผู้สูงอายุที่ต้องดูแลเด็กในครอบครัวและชุมชน ได้แก่ กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนในโรงเรียน กิจกรรมเสียงตามสายในชุมชน กิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษ กลุ่มทำขนมพื้นบ้านและกลุ่มเด็กเท่าทันสื่อ เป็นต้น
โครงการแด่น้องฯ ได้สนับสนุนการสร้างเสริมพลังให้เป็น “กลุ่มพลังเด็ก” ที่เข้มแข็ง โดยจัดอบรมเสริมทักษะให้เด็กได้เรียนรู้ถึงปัญหาของเด็กในชุมชนของตน การจัดรายการวิทยุเพื่อใช้เป็นช่องทางสื่อสารปัญหาของเด็กผ่านเสียงตามสายในโรงเรียน และหอกระจายข่าวในหมู่บ้าน และเป็นตัวแทนเด็กเข้าไปนำเสนอปัญหาของเด็กในเวทีระดับจังหวัดและระดับชาติ
งานกลไกชุมชนปกป้องเด็ก
การทำงานในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ของ มพด. ไม่ว่าจะเป็นชนบทหรือในเมือง แนวทางสำคัญที่ ส่งเสริมให้เกิดคือ “กลไกชุมชนปกป้องเด็ก” โดยการสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชน ในการดูแลช่วยเหลือพัฒนาเด็ก ผ่านกระบวนการสร้างอาสาสมัครเด็กและอาสาสมัครชาวชุมชน และการทำงานร่วมกับเครือข่ายด้านเด็กในพื้นที่ จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครด้วยการอบรม จัดค่าย ศึกษาดูงานและเข้าร่วมเวทีด้านเด็ก เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ สถานการณ์ปัญหาเด็ก วิธีการช่วยเหลือเด็กให้เข้าถึงบริการของรัฐ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาเด็กรอบด้าน“อาสาสมัครคุ้มครองสิทธิเด็ก” ในปี พ.ศ.๒๕๔๔-๒๕๔๕ โครงการแด่น้องฯ ได้ยกระดับการทำงานชุมชนปกป้องเด็กให้เข้มแข็งขึ้น โดยร่วมกับองค์การยูนิเซฟ อบรมอาสาสมัครเพื่อทำหน้าที่ดูแลแก้ไขปัญหาของเด็กในเบื้องต้น มีบทบาทสำรวจข้อมูลสภาพปัญหาเด็กในชุมชน ประชุมหาแนวทางการแก้ไขเยี่ยมบ้าน ประสานความร่วมมือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในระดับตำบลและอำเภอ เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนในระยะยาว ความเข้มแข็งที่ยกระดับขึ้นนี้ โครงการแด่น้องฯ เชื่อว่า จะสามารถพัฒนาไปสู่การเป็น “วิถีของชุมชน” ที่จะปกป้องดูแลเด็ก ๆ ในชุมชนของตนเองได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
งานสร้างความเข้มแข็งและครอบครัวในภาวะวิกฤต 3 จังหวัดชายแดนใต้
โครงการกำปงซือแน (หมู่บ้านสันติสุข) เป็นโครงการที่นำบทเรียนการทำงานของโครงการแด่น้องผู้หิวโหย ขยายผลไปสู่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) เพื่อส่งเสริมศักยภาพเด็กและครอบครัวในภาวะวิกฤติ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ตลอดจนเด็กกำพร้าและเด็กที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก ประสบปัญหาขาดสารอาหาร เจ็บป่วยเรื้อรัง พิการ และอยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยงสูง เรามีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่เด็กและช่วยให้ครอบครัวของเขาสามารถพัฒนาศักยภาพ ทักษะอาชีพสร้างรายได้ และพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำเนินชีวิต และดูแลลูกหลานของตนเองได้ต่อไปโดยยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังพัฒนากลไกชุมชนให้มีส่วนร่วมการดูแลและคุ้มครองเด็กมิให้ถูกละเมิดสิทธิ สามารถมีชีวิตที่ปลอดภัย และมั่นคง โดยใช้แนวทางการสร้างเสริม การมีส่วนร่วม และการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน จากเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา องค์กรชุมชน หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น เช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน สถานีอนามัย องค์การบริหารส่วนตำบล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ศูนย์พัฒนาสังคม บ้านพักเด็กและครอบครัว เป็นต้น