โครงการแด่น้องผู้หิวโหย (ดน.)
สถานการณ์ปัญหาของเด็กในชนบท
มองย้อนหลังไปยังปัญหาของเด็กในชนบทเมื่อกว่า ๒๕ ปีที่ผ่านมา จวบจนปัจจุบัน ยังคงเป็นปัญหาของความขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอาหาร สุขภาพอนามัย การศึกษา ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจและความพร้อมในการประกอบอาชีพเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยสี่ ประกอบกับความเจริญทางวัตถุที่นำมาซึ่งการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองและไม่เป็นธรรม รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองและความรุนแรงที่เป็นสถานการณ์ใหม่ในสังคมไทย ทำให้มีเด็กถูกทอดทิ้งมากขึ้น ทั้งจากกรณีพ่อแม่อพยพแรงงาน ครอบครัวแตกแยกหย่าร้าง เด็กกำพร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ จากเหตุการณ์ภัยพิบัติ และความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาตามมา คือ สุขภาพร่างกายและจิตใจ ยาเสพติด พฤติกรรมเบี่ยงเบนก้าวร้าวรุนแรง ติดสื่อและการเลียนแบบสื่อ และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปัญหาของเด็กมีความหนักหน่วงรุนแรงและซับซ้อนขึ้น
การดำเนินงานของโครงการ
โครงการแด่น้องผู้หิวโหย ได้ให้ความช่วยเหลือดูแลเด็กชนบทที่ป่วยเป็นโรคขาดสารอาหาร โดยสนับสนุนให้บุคคลในพื้นที่จัดทำโครงการอาหารกลางวัน/อาหารเสริม และโครงการเกษตรเพื่อนำผลผลิตมาทำอาหารกลางวัน โครงการแด่น้องผู้หิวโหยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงกว้างจากภาพยนตร์โฆษณา “แด่น้องผู้หิวโหย” (เด็กกินดิน) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ และได้ขยายงานโครงการเกษตรในโรงเรียนไปสู่ชุมชนในลักษณะแหล่งฝึกอบรมทักษะการเกษตรให้แก่เด็กและชาวบ้าน เพื่อสร้างแหล่งอาหารในชุมชน ควบคู่ไปกับการจัดอบรมส่งเสริมทักษะและขยายรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนและแนวทางการพึ่งตนเอง ส่งเสริมกระบวนการสร้างกลไกชุมชนปกป้องเด็กเพื่อเป็นการดูแลส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กโดยคนในชุมชน
งานความมั่นคงทางอาหาร
ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ มีเด็กขาดสารอาหารจำนวนมากถึงปีละ ๕๕๐,๐๐๐ คน โครงการแด่น้องผู้หิวโหยถึงถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่อยากช่วยเหลือเด็ก โดยรับบริจาคเงินส่งให้โรงเรียนเพื่อทำอาหารกลางวันเลี้ยงนักเรียน ต่อมาโครงการฯ จึงสนับสนุนให้คนในชุมชนเป็นผู้ดำเนินโครงการเอง โดยแก้ไขปัญหาเด็กขาดอาหารเฉพาะหน้าเร่งด่วนด้วยโครงการอาหารกลางวัน/อาหารเสริม โครงการเกษตรในโรงเรียน ในชุมชนมีการสงเคราะห์เฉพาะราย เด็กขาดสารอาหารและการเกษตร ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ในโรงเรียนและในหมู่บ้าน มีการจัดกลุ่มหมุนเวียนกันดูแลจัดทำ จัดอบรมเทคนิคการเกษตรที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ โดยเน้นเพื่อนำผลผลิตมาทำอาหารกลางวันและขายผลผลิตส่วนเกินเพื่อสะสมในกองทุนอาหารกลางวัน
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ โครงการฯ ได้ขยายการบริการอาหารกลางวัน/อาหารเสริมและการเกษตรในโรงเรียนในภาคอีสาน ภาคเหนือและภาคกลาง มีการประสานความร่วมมือกับ “ข่ายงานในชุมชน” คือ สำนักงานประถมศึกษาอำเภอและองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ในพื้นที่ ช่วยติดตามดูแลการดำเนินโครงการของโรงเรียนและหมู่บ้านอีกแรงหนึ่ง จากการเข้าไปติดตามเองของเจ้าหน้าที่โครงการแด่น้องฯ พร้อมกับดำเนินการจัดอบรมเสริมทักษะความรู้และดูงานด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่องและการสนับสนุนกองทุนการเกษตรแก่โรงเรียนที่มีแนวโน้มว่าสามารถนำไปใช้หมุนเวียนได้ต่อเนื่องจริง โดยยังคงเน้นให้เด็ก ชาวบ้าน และครูมีส่วนร่วมในโครงการทุกขั้นตอน
ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๖-๒๕๔๐ มีการทำงานเชิงลึกที่เป็นงานศึกษารูปแบบการเสริมพลังครอบครัวและชุมชนเพื่อให้มีบทบาทป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็ก ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องโภชนาการและพัฒนาการของเด็ก กลุ่มเป้าหมายคือ เด็ก ครอบครัว กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน และผู้นำหมู่บ้าน กิจกรรม ได้แก่ โครงการอาหารเสริมในศูนย์เด็กเล็ก โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน อาชีพเสริมสำหรับกลุ่มพ่อบ้าน กลุ่มแม่บ้านและกลุ่มเยาวชน (ตัดเย็บ ทำขนม ทำน้ำปลา ตีเหล็ก ช่างยนต์ พิมพ์ดีด เลี้ยงไก่) อบรมเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก การดูงานด้านเกษตรกรรม กลุ่มออมทรัพย์และร้านค้า
ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ส่งผลกระทบรุนแรงจนเห็นได้ชัดในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เมื่อโครงการแด่น้องฯ ได้พบว่าในพื้นที่โครงการเกษตร มีเด็กวัย ๑-๓ ปี เป็นโรคขาดสารอาหารระดับรุนแรงในเกณฑ์อันตรายและปัญหาทุพโภชนาการของเด็กที่น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ในอัตราสูง ทำให้โรคขาดสารอาหารกลับมาเป็นปัญหาสำคัญของเด็กวัยก่อนเรียนและวัยเรียนอีกวาระหนึ่ง รวมถึงปัญหาของ เด็กที่ถูกทอดทิ้งเพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาซับซ้อนเหล่านี้ โครงการแด่น้องฯ จึงเน้นการทำงานส่งเสริมให้การรวมตัวกันของคนในชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก โครงการแด่น้องฯ จัดให้มีโครงการส่งเสริมทางเลือกครอบครัวแรงงานคืนถิ่น ตั้งแต่กลางปี พ.ศ.๒๕๔๐ – กลางปี พ.ศ.๒๕๔๒ โดยสนับสนุนกลุ่มเยาวชน ทั้งทางด้านงานเกษตรและงานช่าง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีเยาวชนเข้ามาทำกิจกรรมต่อเนื่องน้อย ส่วนใหญ่พากันอพยพแรงงานไปหมดในช่วงต้นปี พ.ศ.๒๕๔๒ แต่งานรวมกลุ่มชาวบ้านกลับประสบผล เกิดกลุ่มสตรี กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มทอผ้า กลุ่มทำขนม และกลุ่มเลี้ยงปลา
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๕ โครงการแด่น้องฯ ยังคงให้การสนับสนุนโครงการเกษตรในโรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดารภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ เนื่องจากสำรวจพบข้อมูลปัญหาทุพโภชนาการเด็กจำนวนมากและเป็นพื้นที่ทุรกันดารที่บริการจากภาครัฐเข้าไปไม่ทั่วถึง นอกจากโครงการเกษตรแล้ว ยังสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันสมทบกับงบประมาณที่โรงเรียนได้รับจากภาครัฐ เพื่อให้เด็กได้รับอาหารกลางวันอย่างพอเพียงครบทุกคน และคณะครูได้เข้ารับการอบรมดูงานเทคนิคการเกษตรพื้นที่สูง เพื่อนำไปปรับปรุงงานเกษตรให้มีความหลากหลาย เช่น การปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลา ไก่ เป็ดเทศ และหมู ปลูกพืชเมืองหนาว และสวนผลไม้
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖-๒๕๔๘ โครงการแด่น้องฯ ให้การสนับสนุนโครงการเกษตรและโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนในภาคเหนือและตะวันออก และใช้โครงการเป็นสื่อกลางในการทำงานร่วมกันของหลาย ๆ ฝ่าย โรงเรียน ผู้นำชุมชน พ่อแม่และผู้ปกครองเด็ก มีการประชุมร่วมกับผู้นำชุมชนและครูเพื่อสะท้อนปัญหาเด็กในชุมชน โครงการฯ ได้พัฒนาโครงการเกษตรให้เป็นโครงการพื้นที่ต้นแบบชุมชนสร้างอาหารแก่เด็กในโรงเรียนและชุมชน ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ สถานการณ์ปัญหาของเด็กกลับรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องด้วยเหตุการณ์ภัยทางธรรมชาติสึนามิและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้โครงการฯ ต้องติดตามสถานการณ์เด็กในภาวะวิกฤติอย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนเฉพาะหน้าแก่เด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากทั้ง ๒ เหตุการณ์ เช่น นมผง อาหารเสริม ค่ารักษาพยาบาล ทุนการศึกษา อุปกรณ์การศึกษา เครื่องมือและอุปกรณ์ประกอบอาชีพ ก่อนพัฒนาโครงการเพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ต่อไป
งานอนามัยแม่และเด็ก
เพื่อสนับสนุนให้โครงการเกษตร/โครงการอาหารกลางวัน ประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเด็กขาดสารอาหาร โครงการแด่น้องผู้หิวโหยได้เสริมสร้างความรู้ด้านโภชนาการ อนามัยและการเลี้ยงดูเด็กให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยให้แก่กลุ่มพ่อบ้านแม่บ้านในชุมชน ด้วยการจัดหน่วยเคลื่อนที่ให้ความรู้โภชนศึกษาและสาธิตการทำอาหารเสริมจากวัตถุดิบในชุมชน โดยร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขของท้องถิ่น และเสริมทักษะการติดตามภาวะโภชนาการของเด็กด้วยการชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ โครงการแด่น้องฯ ได้ปรับกระบวนการทำงาน ทั้งด้านลึกเชิงคุณภาพในเรื่องอนามัยแม่และเด็กในหมู่บ้านเป้าหมาย ด้วยการศึกษาเชิงปฏิบัติการเพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาเด็กขาดสารอาหารตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาและส่งเสริมพัฒนาการเด็กหลังคลอด ระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๒ ในหมู่บ้านพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ด้วยวิธีการเยี่ยมบ้านเด็ก ครอบครัวละ ๒-๔ ครั้ง/เดือน พูดคุยให้ความรู้แก่กลุ่มแม่ในเรื่องการปฏิบัติตนระหว่างตั้งครรภ์ การรับวัคซีน อาหาร ๕ หมู่ และอาหารเสริมสำหรับเด็กที่หาได้จากแหล่งอาหารในชุมชน พัฒนาการตามวัยของเด็ก โรคที่เกิดกับเด็ก ฯลฯ ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือเฉพาะหน้ากรณีเด็กขาดสารอาหารระดับรุนแรงหรือเจ็บป่วย และสนับสนุนให้กลุ่มแม่บ้านและเยาวชนมาช่วยกันทำนมถั่วเหลืองให้เด็กได้บริโภคทุกวัน เมื่อเสร็จสิ้นการศึกษา ๓ ปี พบว่าพฤติกรรมของแม่ในการเลี้ยงดูเด็กดีสม่ำเสมอ ช่วยให้เด็กขาดสารอาหารระดับรุนแรงหมดไป เด็กแรกคลอดทุกรายมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
โครงการแด่น้องฯ ยังคงให้ความรู้อนามัยแม่และเด็ก และออกตรวจสุขภาพเด็กในพื้นที่ทำงาน เช่น ในจังหวัดศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สระแก้ว และปัตตานี
งานทุนการศึกษา
ปี พ.ศ.๒๕๓๕ โครงการแด่น้องฯ เริ่มโครงการทุนการศึกษาแก่เด็กที่มีความประพฤติดี ฐานะยากจนช่วยเหลืองานของครอบครัวและโรงเรียน และมีผลการเรียนระดับพอใช้ โดยโครงการแด่น้องฯ ร่วมมือกับครูคัดเลือกเด็กจากโรงเรียนในโครงการอาหารกลางวันและการเกษตร ปีละ ๗-๑๕ ทุน และได้ขยายเป็น ๒๑๓ ทุนในปี พ.ศ.๒๕๓๙ และ ๒๐๙ ทุนในปี พ.ศ.๒๕๔๐ นักเรียนทุนเหล่านี้อยู่ใน จ.ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ สุรินทร์ ชัยภูมิ มุกดาหาร สกลนคร และแม่ฮ่องสอน งานทุนการศึกษานี้เองทำให้โครงการแด่น้องฯ มีโอกาสทำงานร่วมกับเครือข่ายครู ๒ จังหวัดในปี พ.ศ.๒๕๓๙ คือ กลุ่มครูกัลยาณมิตร จ.บุรีรัมย์ และกลุ่มครูพัฒนาบ้านเฮา จ.อำนาจเจริญ รวม ๕๔ คน โดยโครงการแด่น้องฯ สนับสนุนการจัดอบรมเสริมทักษะความรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาเด็กในความดูแลของครู โดยกลุ่มครูเป็นผู้ทำงานช่วยเหลือดูแลเด็กและครอบครัวที่ประสบปัญหา ด้วยการเยี่ยมบ้านพูดคุยให้กำลังใจและหาทางช่วยเหลือทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว มีการจัดเก็บข้อมูลเด็กและประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือด้วย ทำให้กลุ่มครูมีประสบการณ์และสามารถขอการสนับสนุนจากแหล่งทุนต่าง ๆ ได้เอง
งานทุนการศึกษาในช่วง พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๔๕ เป็นการสนับสนุนทุนต่อเนื่องระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย และอาชีวศึกษา ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สุรินทร์ ชัยภูมิ มุกดาหาร สกลนคร และแม่ฮ่องสอน มีจำนวน ๑๗๘ ทุน ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ และลดลงเหลือ ๓๑ ทุน ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่จบการศึกษา และบางส่วนสามารถขอรับทุนการศึกษาในพื้นที่ โครงการแด่น้องฯ มีแนวทางการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มเด็กใน จ.บุรีรัมย์ ในเชิงคุณภาพมากขึ้น จึงได้จัดกลุ่มพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับการวางแผนชีวิต การช่วยเหลืองานส่วนรวมและครอบครัว และทำงานหารายได้ในช่วงวันหยุดและปิดเทอม พร้อมกับให้เด็กเข้าร่วมงานค่ายและการอบรมเสริมทักษะความรู้ต่าง ๆ ทำให้เด็กรวมกลุ่มกันเพาะเห็ดขายในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากคนในครอบครัวและผู้นำชุมชน และต่อมาได้พัฒนาเป็นโครงการพัฒนาทักษะด้านอาชีพเพื่อการพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมให้เด็กมีความรู้และทางเลือกด้านอาชีพในท้องถิ่น ทำกิจกรรมที่เหมาะสม มีรายได้เสริมในระหว่างเรียน
งานพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๓๙ โครงการแด่น้องฯ ได้จัดทำโครงการอบรมศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์ภายในวัด จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้แก่ครูพี่เลี้ยง จำนวน ๑๐ ศูนย์ ซึ่งมีเด็กในความดูแล จำนวน ๓๗๒ คน ช่วงอายุ ๓-๔ ปีในอำเภอขุนหาญ ไพรบึง และขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ สืบเนื่องมาจากพบว่าเด็กภายในศูนย์มีพัฒนาการที่ต่ำกว่าเกณฑ์โดยเฉพาะสติปัญญา กล้ามเนื้อเล็ก อารมณ์ และสังคม การทำงานของแด่น้องฯ เพื่อแก้ไขปัญหาของเด็กภายในศูนย์ โดยประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการศาสนา และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด รวมทั้งกำหนดการพัฒนาและส่งเสริมความรู้แก่บุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก คือ เจ้าอาวาสในฐานะผู้บริหารศูนย์ พี่เลี้ยงเด็กภายในศูนย์ ผู้ปกครองและผู้นำชุมชน โดยมีการให้ความรู้แก่เจ้าอาวาสและพระสงฆ์ การอบรมครูพี่เลี้ยง กิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้เจ้าอาวาสมีความสนใจพัฒนาศูนย์ มีการพัฒนาการบริหารศูนย์และสามารถให้คำแนะนำแก่ครูพี่เลี้ยงเด็กในการจัดการบริหารศูนย์ได้ดีขึ้น ครูพี่เลี้ยงมีการพัฒนาในการจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก จัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการพัฒนาเด็ก ดัดแปลงอุปกรณ์วัสดุเพื่อทำสื่อการเรียนการสอน และสามารถดึงชุมชนและผู้ปกครองของเด็กให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาศูนย์
งานกลไกชุมชนปกป้องเด็ก
การทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ ของโครงการแด่น้องฯ มีแนวทางสำคัญที่จะส่งสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมจากเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน วัดและชุมชน เพื่อร่วมช่วยเหลือคุ้มครองปกป้องเด็ก โครงการฯ มีโอกาสทำงานร่วมกับเครือข่ายครูและองค์กรชาวบ้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เพื่อสร้างเสริมพลัง “ชุมชนปกป้องเด็ก” ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และอำนาจเจริญ ให้คนในชุมชนร่วมกันแสดงความคิดเห็นและสะท้อนปัญหาของเด็กในชุมชน จัดอบรมเสริมความรู้เรื่องสิทธิของเด็กและแนวทางการแก้ไขปัญหาของเด็กในชุมชน ซึ่งมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และพัฒนาการในการดำเนินงานที่สำคัญ คือ จังหวัดศรีสะเกษ องค์กรชุมชนได้ร่วมกันตั้งคณะทำงานดูแลปัญหาเด็กขาดสารอาหาร จังหวัดบุรีรัมย์ เครือข่ายครูขยายงานสู่กลุ่มเด็กในโรงเรียนและกลุ่มเด็กนอกระบบโรงเรียนที่มีพระเป็นผู้นำรวมกลุ่ม ในปี พ.ศ.๒๕๔๔ มีสมาชิกเด็กรวม ๓๐๒ คน
โครงการแด่น้องฯ ได้สนับสนุนการสร้างเสริมพลังให้เป็น “กลุ่มพลังเด็ก” ที่เข้มแข็ง โดยจัดอบรมเสริมทักษะให้เด็กได้เรียนรู้ถึงปัญหาของเด็กในชุมชนของตน การจัดรายการวิทยุเพื่อใช้เป็นช่องทางสื่อสารปัญหาของเด็กผ่านเสียงตามสายในโรงเรียน และหอกระจายข่าวในหมู่บ้าน และเป็นตัวแทนเด็กเข้าไปนำเสนอปัญหาของเด็กในเวทีระดับจังหวัดและระดับชาติ
“อาสาสมัครคุ้มครองสิทธิเด็ก” ในปี พ.ศ.๒๕๔๔-๒๕๔๕ โครงการแด่น้องฯ ได้ยกระดับการทำงานชุมชนปกป้องเด็กให้เข้มแข็งขึ้น โดยร่วมกับองค์การยูนิเซฟ อบรมอาสาสมัครเพื่อทำหน้าที่ดูแลแก้ไขปัญหาของเด็กในเบื้องต้น มีบทบาทสำรวจข้อมูลสภาพปัญหาเด็กในชุมชน ประชุมหาแนวทางการแก้ไขเยี่ยมบ้าน ประสานความร่วมมือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในระดับตำบลและอำเภอ เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนในระยะยาว ความเข้มแข็งที่ยกระดับขึ้นนี้ โครงการแด่น้องฯ เชื่อว่า จะสามารถพัฒนาไปสู่การเป็น “วิถีของชุมชน” ที่จะปกป้องดูแลเด็ก ๆ ในชุมชนของตนเองได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
ประสบการณ์ที่ได้รับ
๑. โครงการแด่น้องฯ พบว่า การอาศัยเพียงกำลังคนกลุ่มเดียวไม่อาจนำไปสู่การพึ่งตนเองของชุมชนได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของชาวบ้านทั้งหมดตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะบทบาทของกลุ่มแม่บ้านและเยาวชนแล้วตั้งเป็นองค์กรชาวบ้านแกนนำทำงานตามพื้นฐานการรวมกลุ่มอยู่แล้วของชาวบ้าน และประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับโรงเรียนและวัด หากได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ ก็จะยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหาเด็กขาดสารอาหารประสบความสำเร็จ และเกิดแนวทางการป้องกันปัญหาในระยะยาวด้วย
๒. การเข้าไปส่งเสริมกลุ่มบุคคลในพื้นที่ที่มีการรวมตัวกันทำประโยชน์เพื่อเด็ก ดังเช่นกลุ่มครูและกลุ่มชาวบ้าน ทำให้เกิดแนวทางการทำงานที่ได้ผลและครบวงจร ตั้งแต่การสำรวจสภาพปัญหา การช่วยเหลือเฉพาะหน้า การเยี่ยมเยียนให้กำลังใจเด็กและครอบครัว การส่งต่อกรณีปัญหาให้หน่วยราชการที่รับผิดชอบโดยตรงเข้าช่วยเหลือต่อเนื่องในระยะยาว และการแสวงหาแหล่งทุนจากภายนอกเพื่อก่อตั้งกองทุนสำหรับช่วยเหลือเฉพาะหน้าแก่เด็กและครอบครัวยากจนที่ประสบปัญหา อย่างไรก็ตาม สวัสดิการพื้นฐานและสวัสดิการด้านการศึกษาจากภาครัฐ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเหลือและพัฒนาเด็กที่ด้อยโอกาส โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ
๓. การที่ชุมชนสามารถปกป้องดูแลเด็กตั้งแต่ปัญหาขั้นพื้นฐานของชีวิต แม้ว่าจะทำได้ไม่ครบถ้วน แต่จะเป็นแนวทางที่ชัดเจนของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ อย่างเป็นวิถีชุมชน” และจะมั่นคงอย่างมีหลักประกัน ถ้าภาครัฐในส่วนท้องถิ่นและส่วนกลาง เห็นความสำคัญและพร้อมจะสนับสนุน/สานต่อ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาครบวงจร และเกิดแนวทางการป้องกันปัญหาในระยะยาว
ตลอดระยะเวลา ๓๗ ปี ในการทำงานพัฒนาเด็กในชนบทในจังหวัดต่าง ๆ ๓๐ จังหวัดทั่วประเทศ โครงการแด่น้องฯ มุ่งเน้นการประสานให้ทุกฝ่ายในท้องถิ่น ทั้งระดับจังหวัด และระดับภูมิภาค เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กชนบท โดยใช้กลไกอาสาสมัครเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดกับเด็ก เพื่อให้เด็กมีอาหารบริโภค มีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น ได้รับการศึกษาอย่างต่ำขั้นพื้นฐาน ได้รับการคุ้มครองปกป้อง และมีส่วนร่วมและบทบาทในการช่วยเหลือปกป้องดูแลเด็กในชุมชนเพื่อเติบใหญ่เป็นกำลังของสังคมต่อไป