หนังสือปี 2564
“ฟื้นคืน พลังเด็ก พลังชุมชน“
ในปี 2564 ได้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด 19 ส่งผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และชุมชน ในหลายๆ ด้าน ทั้งในชุมชนแออัดเมืองและชุมชนชนบท ซึ่งการแพร่ระบาดเกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่เศรษฐกิจ คนตกงาน ขาดรายได้ เกิดปัญหาหนี้ในครัวเรือน เกิดผลกระทบด้านสุขภาพกาย ใจ พบเด็กขาดสารอาหาร ปัญหาสุขภาพจิต ผู้ใหญ่เกิดภาวะเครียด ซึมเศร้าเพราะไร้ทางออก เด็กขาดความสุขและซึมเศร้า เพราะถูกกักบริเวณ ขาดพื้นที่เล่นพื้นที่เรียนรู้ใกล้บ้าน ขาดการปฏิสัมพันธ์ กับเพื่อน ฯลฯ
การทำงานของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ และการดำเนิน วิถีชีวิตแบบใหม่ New Normal ในวิกฤตยังเห็นโอกาส ได้เห็นพลังเด็ก เยาวชน ชุมชน ร่วมกันด้าน โควิด 19 เกิดแกนนำ เด็ก เยาวชนในแต่ละพื้นที่สำรวจข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนและนำมาวางแผนการดำเนินงานช่วยเหลือและพัฒนาโครงการ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น โครงการด้านอาหาร ส่งเสริมให้ครัวเรือนเป้าหมายปลูกผักสร้างอาหารในครัวเรือนในพื้นที่ เพื่อ ให้ชาวชุมชนได้มีอาหารหมุนเวียน โครงการห้องเรียนออนไลน์กลุ่มนิสิตจากมหาวิทยาลัย ได้จัดหลักสูตรการเรียนออนไลน์เพื่อให้ เครื่องมือกระบวนการให้กลุ่มเครือข่ายครูและแกนนำได้นำเทคนิคเครื่องมือต่าง ๆ ไปใช้ โครงการอาสาสอน เครือข่ายแกนนำ นักศึกษาในภาคอีสานได้อาสาลงพื้นที่สอนหนังสือเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน ในช่วงที่โรงเรียนปิด และมีการทดลองระบบการเรียนออนไลน์ ซึ่งเด็ก ๆ ในพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือที่ใช้เรียนออนไลน์ได้
ทั้งนี้ได้เห็นแกนนำเด็กและเยาวชน ร่วมกันรณรงค์วางแผนให้ความรู้เพื่อป้องกันในรูปแบบต่างๆ ตามบริบทของพื้นที่ เช่น เยาวชนชุมชนเมือง ทำแผ่นป้ายความรู้ไปติดกลางชุมชน และเดินให้ข้อมูลและร่วมกันจัดสภาพแวดล้อมทำความสะอาดชุมชน กลุ่มเด็กต่างชาติช่วยกันวาดภาพรณรงค์สื่อเป็นภาพ โดยมีกลุ่มผู้ปกครองมีส่วนร่วมแปลเป็นภาษาพม่า กะเหรี่ยง กลุ่มเยาวชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ร่วมกันเขียนป้ายรณรงค์ และขับรถแห่รอบหมู่บ้าน ทำงานร่วมกับอสม. ในพื้นที่ทำคลิปรณรงค์ให้ความรู้ ความช่วยเหลือ กลุ่มเด็กเยาวชนอีสาน เหนือ ทำการรณรงค์ผ่านเสียงตามสาย และอ่านข้อมูลความรู้เป็นภาษากะเหรี่ยงออกหอกระจายข่าวหมู่บ้าน มีการเกิดพลังจิตอาสา แบ่งปัน และระดมทุน แกนนำเยาวชนทุกพื้นที่เป็นแกนสำคัญในการร่วมมือ ช่วยเหลือชุมชน มีจิตอาสาลงพื้นที่ทำงานทุกวันในช่วยสถานการณ์โควิด ๑๙ อีกทั้งเป็นแกนนำในการบริหารจัดการระดมทุน กระจายสิ่งของความช่วยเหลือในพื้นที่ต่างๆ
จากการดำเนินงานมูลนิธิฯ ได้เน้นกระบวนการเสริมแนวคิดการพัฒนา การเสริมพลังเด็กเยาวชน ชุมชน และการสร้าง การมีส่วนร่วม สร้างพื้นที่ ที่ส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ทำให้ชุมชนมีพลังในการพัฒนา มีการจัดการตนเองอย่างเป็นรูปธรรม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส โควิต 19 ที่ผ่านมาสามารถยืนยันได้ว่าจากกระบวนการต่างๆ ที่ได้บ่มเพาะตัวบุคคล ได้แก่ เด็ก เยาวชน และชุมชน เมื่อเกิดวิกฤติจึงเห็นพลังที่แสดงออกในทุกพื้นที่
มูลนิธิฯ ขอขอบคุณผู้บริจาศทุกท่าน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถานศึกษา สื่อมวลชนทุกแขนง และทุกคนในสังคม ที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กร่วมกับมูลนิธิฯ
นายเชษฐา มั่นคง
ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)
คลิกเพื่ออ่านhttps://online.pubhtml5.com/vqjv/nofo/?fbclid=IwAR1Wb5zjvvkFNmpxZSz0_UtEZf0rh275l9ORVrFcy8diQDYGA0p2QFPUdAA#p=13